การเพาะและดูแลกล้าผักอย่างถูกวิธี
วิธีการปลูกผัก แบ่งได้เป็น 2 แบบ
1. หยอดเมล็ดลงแปลงปลูกโดยตรง เป็นวิธีที่สะดวก พืชที่มีขนาดเมล็ดใหญ่จะให้ต้นอ่อนขนาดใหญ่สามารถงอกโผล่พ้นดินได้ง่าย จึงเหมาะที่จะปลูกด้วยวิธีนี้ แต่พืชที่เมล็ดขนาดเล็กเช่น ผักคะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง การหยอดหรือหว่านเมล็ดลงแปลงปลูกโดยตรง ต้องมีการเตรียมแปลงปลูกดี และมีระบบให้น้ำที่สะดวก
2. เพาะกล้าแล้วย้ายปลูก เป็นการเพาะกล้าในถ้วยและถาดเพาะเมล็ด ซึ่งสามารถควบคุมคุณภาพของต้นกล้าให้มีความสม่ำเสมอและแข็งแรง หลังจากย้ายปลูกต้นกล้าจะเจริญเติบโตต่อไปได้ทันทีโดยไม่มีการหยุดชะงัก ข้อดีเด่นของการเพาะกล้าแล้วย้ายปลูกคือ ช่วยลดระยะเวลาในแปลงปลูกลงและสามารถวางแผนปลูกพืชฤดูที่ 2 ได้ล่วงหน้าก่อนเก็บเกี่ยวพืชฤดูแรกเสร็จสิ้น ทำให้สามารถใช้ประโยชน์แปลงปลูกได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกในโรงเรือนที่มีพื้นที่จำกัด
พันธุ์และคุณภาพเมล็ดพันธุ์
การปลูกผักเป็นการค้าในปัจจุบัน จำเป็นต้องเลือกพันธุ์ปลูกซึ่งมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เนื่องจากตลาดหรือผู้บริโภคเป็นผู้เลือกลักษณะที่ตนชอบ ทำให้ผู้ปลูกต้องปรับเปลี่ยนจากการปลูกพันธุ์อะไรก็ได้มาเป็นพันธุ์ที่นิยมบริโภค นอกจากเลือกพันธุ์ที่จะปลูกแล้ว เกษตรกรต้องพิจารณาคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ด้วย
ลักษณะเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี
1. มีความบริสุทธิ์และสะอาด ตรงตามพันธุ์
2. มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูงและสม่ำเสมอ
3. ปราศจากโรคที่ติดมากับเมล็ด
การงอกของเมล็ด
เมล็ดที่แก่เต็มที่และไม่อยู่ในระยะพักตัว เมื่อได้รับความชื้น อากาศ และอุณหภูมิที่เหมาะสมจะสามารถงอกได้ การงอกเริ่มจากความชื้นทำให้เปลือกหุ้มเมล็ดอ่อนตัว มีการดูดน้ำเข้าไปในเมล็ด พร้อมๆกับต้องการออกซิเจนเพื่อใช้ในการหายใจ ทำให้เกิดพลังงานในขบวนการงอก อุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 20-30 องศาเซลเซียส หรือบางชนิดต้องการแสงช่วยให้การงอกดีขึ้น เช่น ผักกาดหอม
หากเมล็ดไม่งอก แม้ว่าจะเป็นเมล็ดแก่ สันนิษฐานว่า เมล็ดอาจมีการพักตัวโดยเฉพาะเมล็ดที่เก็บเกี่ยวมาใหม่ๆ ซึ่งมีสาเหตุจากการปรับตัวของพืชในสภาพแปลงปลูกที่ไม่เหมาะสม เช่น อุณหภูมิสูง หรือขาดน้ำในระยะเมล็ดกำลังพัฒนาหรืออาจเกิดจากเก็บเกี่ยวเมื่อเมล็ดแห้งจัดเกินไป (ผักบุ้ง) หรือในมะเขือเทศที่เมล็ดงอกช้าและทยอยกันงอก อาจมีสาเหตุจากการหมักเมล็ดไม่สมบูรณ์และล้างเมล็ดไม่สะอาดพอโ ดยทั่วไปการพักตัวของเมล็ดมักมีสาเหตุจากเปลือกหุ้มเมล็ดไม่ยอมให้น้ำหรืออากาศผ่าน เช่น กระเจี๊ยบเขียว แตงกวา ผักกาดหอม หรือเมล็ดมีสารยับยั้งการงอกอยู่
วิธีอาจช่วยให้เมล็ดมีความงอกเพิ่มขึ้น คือ
1. นำเมล็ดที่ดูดน้ำแล้ววางไว้ในสภาพอุณหภูมิต่ำ 10-15 องศาเซลเซียส 2-3 วัน (ส่วนใหญ่ใช้กับเมล็ดตระกูลกะหล่ำ)
2. ล้างเมล็ดในน้ำปริมาณมากๆ เพื่อชะล้างสารยับยั้งการงอกออกไปบ้าง (แตงกวา)
3. บดหรือกะเทาะให้เปลือกเมล็ดแตกออก เพื่อช่วยให้เมล็ดดูดน้ำเข้าไปได้ง่าย (ผักชี)
4. แช่เมล็ดในสารละลายโปแตสเซียมไนเตรท ความเข้มข้น 0.2 เปอร์เซ็นต์ (มะเขือ พริก คะน้า และพืชตระกูลกะหล่ำ) หรือใช้ GA3 อัตรา 0.2-1.0 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร
คุณสมบัติของวัสดุเพาะกล้าที่ดี
1. ค้ำจุนส่วนของพืชให้ตั้งตรงอยู่ได้
2. น้ำหนักเบา
3. มีความสามารถในการอุ้มน้ำดี
4. มีความพรุน อากาศถ่ายเทได้สะดวก
5. ระบายน้ำดี
6. ปราศจากโรคและแมลง
การใช้พีทมอส ซึ่งเกิดจากเศษซากพืชเน่าเปื่อยผุพังทับถมกันมานาน เป็นวัสดุเพาะกล้าในรูปที่พร้อมนำมาใช้ได้ทันที ราคาของพีทมอสที่นำเข้าจากต่างประเทศค่อนข้างแพง ประมาณ 500-600 บาทต่อ 150 ลิตร (ถาดเพาะกล้าชนิด 72 ช่อง ใช้วัสดุปลูกประมาณ 4 ลิตร ส่วนชนิด 104 ช่อง ใช้วัสดุปลูก 5 ลิตร) แต่ก็มีวัสดุหลายชนิดที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น แกลบดิบ ถ่านแกลบ ขุยมะพร้าว ขี้เลื่อย กากชานอ้อย ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก เป็นต้น ซึ่งจากการศึกษาคุณสมบัติของวัสดุเหล่านี้เพื่อใช้เป็นวัสดุปลูกแทนพีทมอสพบว่า ขุยมะพร้าว ถ่านแกลบ แกลบดิบ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุปลูกได้ โดยขุยมะพร้าวอาจจะมีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง แต่ความเป็นกรดด่างต่ำประมาณ 5.5 ถ่านแกลบมีความเป็นกรดด่างประมาณ 7.5 แกลบดิบมีความเป็นกรดด่าง 5.6 แต่อุ้มน้ำได้น้อยกว่าขุยมะพร้าวและถ่านแกลบ ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเป็นส่วนผสมที่จำเป็นในวัสดุปลูก ซึ่งทั้งปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักจะต้องผ่านขบวนการหมักจนเสร็จสมบูรณ์แล้ว มิฉะนั้นต้นกล้าอาจเสียหายได้
ตัวอย่างและอัตราส่วนของวัสดุที่ใช้เพาะกล้า
1. ขุยมะพร้าว : ถ่านแกลบ: ปุ๋ยหมัก = 1: 1: 1
2. ถ่านแกลบ : ปุ๋ยหมัก = 1: 1
3. ถ่านแกลบ : มูลวัวหมัก = 1: 1
4. พีทมอส
การให้ปุ๋ยเคมี
1. ปุ๋ยที่ดีคือ ปุ๋ยสูตร 14-0-14 ซึ่งได้จากการนำปุ๋ยแคลเซียมไนเตรทผสมกับโปแตสเซียมไนเตรทอัตราส่วน 70:30 (หากไม่สามารถหาปุ๋ยทั้ง 2 ชนิดได้ อาจใช้ปุ๋ยเกล็ดสูตร 20-20-20 แทน แต่ควรให้แคลเซียม โบรอนเพิ่มด้วย) สำหรับปริมาณปุ๋ยคำนวณจากจำนวนกระบะเพาะกล้า 1 กระบะต่อปุ๋ย 1 กรัม และอาจเพิ่มเป็น 2 กรัมต่อกระบะเมื่อต้นกล้ามีขนาดใหญ่ขึ้น ตัวอย่าง มีกล้ามะเขือเทศ 30 กระบะ แสดงว่า ต้องเตรียมปุ๋ย 30 กรัม ซึ่งได้จากแคลเซียมไนเตรท 21 กรัม และโปแตสเซียมไนเตรท 9 กรัมผสมกัน (เนื่องจากแคลเซียมไนเตรทจะละลายเหลวจึงไม่สามารถนำมาผสมกันล่วงหน้านานๆได้) กะปริมาณน้ำที่จะใช้รดได้ทั้ง 30 กระบะแล้วจึงละลายปุ๋ยใส่ในบัวรดน้ำ รดทุกกระบะเท่าๆกัน
2. รดด้วยสารละลายปุ๋ยรวม 4 ครั้ง โดยครั้งแรกเริ่มรดปุ๋ยที่อายุ 7-10 วันหลังจากหยอดเมล็ด และต่อไปให้ปุ๋ยทุกๆ 4-5 วัน
3. เมื่อต้นกล้าอายุ 20-25 วัน อาจฉีดพ่นด้วยธาตุอาหารรอง เหล็ก สังกะสี ทองแดง แมงกานีส แมกนีเซียม โบรอน ซัลเฟอร์ อัตรา 20-30 ซีซี/20 ลิตร จำนวน 1-2 ครั้ง จะช่วยให้ต้นกล้าสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
4. ก่อนย้ายปลูก 1-2 วัน ควรรดปุ๋ย 10-52-10 อัตรา 1-2 กรัมต่อกระบะ เพื่อให้รากเจริญเติบโตดีและทนทานต่อการย้ายปลูก
ลักษณะของต้นกล้าที่ดี
1. ลำต้นหนา ไม่ยืดยาว และไม่เปราะหรือฉ่ำน้ำ
2. ใบใหญ่ แข็งแรง
3. รากใหญ่ สั้น และมีจำนวนมาก
4. มีความสมดุลของต้นและราก
5. ผักกินผล มีตาดอกจำนวนมาก
การทำให้ต้นกล้าแข็งแรงก่อนย้ายปลูก
ใช้หลักการที่ว่าเมื่อพืชถูกทำให้ชะงักการเจริญเติบโต จะเกิดการสะสมอาหารจำพวกแป้งในต้นมากขึ้น ทำให้ลำต้นแข็งไม่ฉ่ำน้ำและอาหารที่สะสมไว้จะเป็นแหล่งอาหารสำหรับการเกิดรากใหม่ ดังนั้นการทำให้ต้นกล้าแข็งแรง ควรทำก่อนย้ายปลูกประมาณ 7 วัน ดังนี้
1. ให้ต้นกล้าได้รับแสงแดดมากขึ้น
2. ลดปริมาณน้ำที่ให้ลงจนต้นกล้าเริ่มเหี่ยวจึงให้น้ำ ทำสลับกัน 2-3 ครั้ง
3. ใช้สารเคมีประเภทยับยั้งการเจริญเติบโต เช่น พาโคบูตาโซล (0.005%) โปแตสเซียมคลอไรด์ (0.5%) แต่อัตราการใช้ที่เหมาะสมในแต่ละพืชจำเป็นต้องทำการศึกษาทดลองก่อนนำไปใช้
อายุกล้าที่เหมาะสม
พืชผักแต่ละชนิดต้องการอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน ดังนั้นในการเพาะกล้าผักแต่ละชนิดต้องคำนึงถึงอายุกล้าเป็นสำคัญ
ชนิดพืช อายุกล้าที่เหมาะสม (วันหลังเพาะกล้า)
พริก 30
มะเขือเทศ 21-24
แตงกวา มะระ บวบ ถั่วพู 14-20
กระเพรา โหระพา แมงลัก ยี่หร่า 30
ที่มา : ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม