การปลูกชะอม
ต้นชะอมเป็นไม้ยืนต้น และเป็นไม้พื้นเมืองของไทยที่คนไทยนิยมปลูกชะอมเป็นรั้วบ้าน ซึ่งสามารถเด็ดยอดไปบริโภคเป็นผักได้ทุก ๆ 3 วัน ต้นชะอมหากถูกเด็ดยอดจะแตกกิ่งข้างต้นหนาแน่น ชะอมมีหนามตามกิ่งจึงใช้เป็นรั้วบ้านได้ดี
ลักษณะโดยทั่วไป
ต้นชะอมเป็นไม้ยืนต้น ตระกูลถั่วที่มีอายุยืนนาน กิ่งอ่อน ยอดอ่อน ใบอ่อน มีกลิ่นหอมฉุนและมีวิตามินเอสูงถึง 32,000 อินเตอร์เนชันแนลยูนิต ซึ่งสูงกว่าหัวแครอทที่ฝรั่งเชื่อว่ามีวิตามินสูงที่สุด ในบรรดาผักทั้งหลายอีกด้วย ยอดชะอมจัดเป็นอาหารประเภทผักที่มีคุณค่าอาหารสูงยิ่งทั้งวิตามินเอ โปรตีน และเยอื่ ใยที่ร่างกายต้องการ
พันธ์ุชะอม
ชะอมมีอยู่ 2 พันธ์ุด้วยกันคือ
1. ชะอมพันธุ์เบา ลำต้นจะมีขนาดเล็ก ใบเล็ก และยอดขนาดเล็ก
2. ชะอมพันธุ์หนัก ลำต้นมีขนาดใหญ่ ใบใหญ่ ยอดมีขนาดใหญ่ แต่ชาวสวนนิยมปลูกชะอมพันธุ์หนัก กันมากกว่าเพราะสามารถเก็บยอดได้ตลอดทั้งปี
การขยายพันธ์ุชะอมมีอยู่ 2 วิธี คือ
1. การใช้กิ่งตอนหรือกิ่งปักชำ
2. การใช้เมล็ด
เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมขยายพันธุ์โดยการใช้กิ่งปักชำเพราะสะดวก และรวดเร็วกว่าใช้เมล็ด การเลือกกิ่งพันธุ์ชะอมที่จะนำมาขยายพันธุ์นั้นจะต้องเป็นกิ่งที่ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป ควรตัดกิ่งพันธุ์ให้มีความยาวประมาณ 1 คืบ หรือประมาณ 20 ซ.ม.และควรให้มีตาติดประมาณ 3-4 ตา หลังจากที่เลือกกิ่งพันธุ์ได้แล้วก็นำไปปักชำลงในถุงดินที่มีส่วนผสมของขี้เถ้าแกลบและปุ๋ยคอก อัตราส่วนอาจจะใช้ 3:3:1 หรือตามความเหมาะสม หลังจากนั้นก็รดน้ำให้ชุ่มประมาณ 50-60 วัน ชะอมก็จะแตกรากออกมา หรือถ้าเราไม่ใช้ปักชำลงในถุง เราอาจจะปักชำลงในแปลงเพาะก่อนได้ โดยการเตรียมดินที่ดีมีส่วนผสมของขี้เถ้าแกลบ แล้วนำกิ่งพันธุ์มาปักให้ทั่วแปลงเพาะ รดน้ำให้ชุ่มประมาณ 10-15 วัน จะแตกช่อก่อน และประมาณ 50 วันก็จะแตกราก ต่อจากนั้นก็ทำการถอนมาใส่ถุงที่ผสมดินไว้เรียบร้อยแล้ว เลี้ยงต่อไว้อีกประมาณ 60 วัน เพื่อให้ระบบรากแข็งแรงสมบูรณ์ ต่อจากนั้นก็สามารถไปปลูกได้
การเตรียมดิน
ทำการยกร่องเหมือนกับแปลงผักทั่ว ๆ ไป แต่ไม่ต้องยกร่องให้สูงมากนักและไม่ต้องย่อยดินให้ละเอียดเหมือนกับปลูกผัก การเตรียมดินปลูกชะอมก็เหมือนกับการเตรียมดินปลูกมันสำปะหลัง ควรให้แปลงมีความกว้างประมาณ 1-1.50เมตร และระหว่างแปลงจำเป็นต้องมีร่องขังน้ำไว้ด้วย
วิธีการปลูกชะอม
การปลูกชะอมเป็นวิธีที่ง่ายมาก ปลูกวิธีเดียวกับการปลูกมันสำปะหลัง คือ ขุดหลุมตรงกลางแปลงให้เป็นแถวระยะระหว่างแถวและระหว่างต้นประมาณ 1 x 1 เมตร แต่ละหลุมลึกประมาณ 10เซนติเมตร การที่ปลูกตรงกลางแปลงก็เพราะว่าชะอมเป็นไม้พุ่มที่แตกกิ่งก้านสาขารอบต้น เมื่อเจริญเติบโตขึ้น ทรงพุ่มก็จะเต็มแปลงพอดี เมื่อเตรียมหลุมเรียบร้อยแล้วนำกิ่งชะอมปักชำลงในหลุม ตามแนวนอนขนานไปทางเดียวกัน หลุมหนึ่งอาจจะใช้กิ่งพันธุ์ประมาณ 5 กิ่ง ซึ่งกำลังเหมาะเพราะถ้ามากกว่านั้นจะทำให้ทรงพุ่มแน่นทึบเกินไป หลังจากปักชำแล้ว ใช้ทางมะพร้าวมาทำร่มบังแดดให้
การปฏิบัติดูแลรักษาชะอม
ชะอมเป็นพืชที่ทนนานต่อดินฟ้าอากาศพอสมควร ในระยะแรกที่เริ่มปลูกนั้น ควรให้น้ำวันละ 1 ครั้งก็เพียงพอแล้วหรือจะรดน้ำในเวลาเช้าเย็นก็ได้ การกำจัดวัชพืชควรกระทำปีละ 2 ครั้ง กลบโคนด้วยหญ้าและใบไม้ สำหรับการให้ปุ๋ยนั้นในระยะแรกที่ปลูกไม่จำเป็นต้องให้ปุ๋ยเลย จะให้ปุ๋ยก็ต่อเมื่อเริ่มเก็บยอดชะอมแล้ว ปุ๋ยที่ให้คือ ปุ๋ยคอก ละปุ๋ยวิทยาศาสตร์ที่มีธาตุตัวต้นสูง คือ ธาตุไนโตรเจน ซึ่งเป็นธาตุที่บำรุงใบหรือจะใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ก็ได้เป็นปุ๋ยสูตรครอบจักรวาลที่มีอาหารของพืชครบถ้วน คือธาตุไนโตรเจน ช่วยบำรุงใบ ธาตุฟอสฟอรัส ช่วยบำรุงรากและผลและธาตุโปแตสเซียมเป็นธาตุที่บำรุงรสชาติ ชาวสวนชะอมจะนำปุ๋ยคอก และปุ๋ยวิทยาศาสตร์มาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วโรยรอบโคนต้น หลังจากนั้นก็รดน้ำตามลงไปเพื่อให้ปุ๋ยละลาย การที่ต้องการใช้ปุ๋ยคอกผสมกับปุ๋ยวิทยาศาสตร์เพราะว่า ปุ๋ยคอกจะไปช่วยส่งเสริมให้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ซึ่งให้ประโยชน์แก่พืชอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่ถ้าให้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ล้วน ๆ เพียงอย่างเดียว ให้แค่ 1 ช้อนแกงก็เพียงพอแล้ว การให้ปุ๋ยนิยมให้ในระยะที่ชะอมจะโทรม เพราะจะช่วยเร่งให้ชะอมแตกยอดได้รวดเร็วขึ้น
โรคและแมลงศัตรูของชะอม
แมลงศัตรูที่ร้อยแรงของชะอมมีน้อยมาก แมลงศัตรูเท่าที่ทำความเสียหายให้กับชาวสวนชะอมในปัจจุบัน ได้แก่หนอนกัดกินยอดชะอม เพราะชะอมเป็นพืชที่ตัดยอดขาย วิธีป้ องกันกำจัด คือ ฉีดพ่นสารเคมีฆ่าแมลงทุก ๆ 8 วันต่อ 1ครั้ง สารเคมีที่ใช้ได้แก่ คาบาริล และสารโปรไธโอฟอส สำหรับโรคของชะอมยังไม่ปรากฏว่ามีโรคร้ายแรงอะไร ส่วนเหตุร้ายแรงที่ทำให้ชะอมตาย คือ น้ำท่วม
การตัดแต่งกิ่งชะอม
ชะอมเป็นไม้ที่มีทรงพุ่มหนาแน่นเราจำเป็นต้องมีการตัดแต่งกิ่งบ้างเพราะถ้าไม่ตัดแต่งกิ่งเลยจะทำให้ชะอมมีทรงพุ่มแน่นทึบ และจะไม่ค่อยแตกยอดการตัดแต่งกิ่งชะอมจึงมีความสำคัญ นอกจากจะลดปัญหาการแน่นทึบของทรงพุ่มแล้วยังเป็นการลดที่อยู่อาศัยของโรคและแมลงอีกด้วย และที่สำคัญคือจะทำให้ชะอมมีการแตกยอดอ่อนมากขึ้น
การเก็บเกี่ยว
ชะอมเป็นพืชที่ให้ผลเร็วนับแต่เริ่มปลูกจนตัดยอดขายได้กินเวลาเพียง 3-4 เดือนเท่านั้น วิธีตัดยอดขายจะต้องเหลือเอาใบรองยอดไว้จะช่วยให้ชะอมแตกยอดใหม่อีก การเก็บชะอมเก็บได้ทุก 4 วัน เมื่อเก็บแล้วนำมากำเป็นแพ ๆ ละ 14ยอด แล้วใช้ใบมะพร้าว ตัดกลัดเป็นแพ ๆ ชะอม 25 แพ จะถูกมัดรวมเป็นมัด ๆ ขายราคามัดละ 15-35 บาท แล้วแต่ฤดูกาล
การปลูกชะอมแซมพืชอื่นเพื่อเสริมรายได้
การทำให้ชะอมมียอดในหน้าแล้งนั้นเริ่มแรกเราต้องทำการปลูกชะอมตอนต้นฤดูฝน ก็เริ่มขุดหลุมลึกประมาณ 1หน้าจอบ หรือประมาณ 30 เซนติเมตร กว้างประมาณ 25 เซนติเมตร แต่ละหลุมห่างกัน 30 เซนติเมตร ต่อจากนั้นใช้ขุยมะพร้าว และปุ๋ยคอกอย่างละ 1 กำมือ คลุกกับดินในหลุม จากนั้นจึงเลือกกิ่งชะอม การเลือกกิ่งควรเลือกกิ่งที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป ตัดกิ่งเฉียงเป็นปากฉลาม ให้กิ่งมีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร หรือมีส่วนของตาที่จะทำให้เกิดยอดประมาณ 3-4 ตา
เมื่อเราเตรียมหลุมและกิ่งพันธุ์ที่เตรียมไว้แล้ว ก็รดน้ำลงในหลุม นำกิ่งพันธุ์ที่เราเตรียมไว้แล้วมาจุ่มลงในฮอร์โมนเร่งราก โดยการใช้เซราดิกซ์ เบอร์ 2 จากนั้นจึงนำมาปักในหลุมปักเฉียง 45 องศา ปักลึกประมาณ 5 ซม. หรือ 1 ตาหลุมละ 3-4 กิ่ง ปักในลักษณะที่เป็นวงกลม เมื่อปักชำเสร็จแล้วก็ใช้วัสดุคลุมจะเป็นใบมะพร้าวหรือใบกล้วยก็ได้คลุมไว้จนกว่ากิ่งพันธุ์จะแตกยอด
ในช่วงนี้ถ้ามีฝนตกก็ไม่ต้องรดน้ำ แต่ถ้าฝนทิ้งช่วงควรรดน้ำ เช้า เย็น หลังปักชาไํปแล้ว 7-10วัน ชะอมจะเริ่มแตกใบอ่อน เมื่อชะอมมีอายุได้ 1 เดือน ก็ใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ในอัตรา 10 ช้อนแกงต่อหลุม ใส่โดยการพรวนดินรอบ ๆ หลุมใส่ปุ๋ยแล้วก็พรวนดินกลบ และรดน้ำตามใส่ปุ๋ยชนิดนี้เดือนละครั้ง เพื่อให้กิ่งของชะอมยาว ถ้ามีใบมากก็ให้ตัดออกบ้าง ชะอมที่เราจะบังคับให้ออกยอดในฤดูแล้งนั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 1 ปี เพื่อที่ชะอมจะได้มีความทนต่อสภาพแวดล้อม
เมื่อเราได้ชะอมที่จะใช้บังคับให้ออกยอดตามที่ต้องการแล้ว ก็บังคับได้เลยคือจะเริ่มทำในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนเมษายน ก่อนกระทำต้องกำจัดวัชพืชรอบ ๆ โคนชะอมให้หมดก่อนแล้วจึงใช้มีดคม ๆ ตัดชะอมให้มีใบเหลือน้อยและกิ่งเสมอกัน จากนั้นใช้หญ้าแห้ง หรือฟางแห้งวางให้ห่างจากโตนต้นชะอมประมาณ 15 ซม. แล้วจึงใช้หญ้าสดหรือฟางที่มีความชื้นวางทับอีกครั้งหนึ่งแล้วจุดๆพยายามให้มีควันและความร้อนแต่อย่างให้มีเปลวไฟมากนักหลังจากไฟดับแล้วทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน พอสังเกตเห็นว่าใบชะอมเหลืองและทิ้งใบบ้างแล้ว ก็ให้น้ำชะอมโดยรดที่โคนต้นให้ชุ่ม และใช้เครื่องพ่นสารเคมี พ่นน้ำเปล่าตามบริเวณกิ่งและยอดด้วย
รดน้ำวันละครั้งเช้าหรือเย็นก็ได้ ประมาณ 3 วันชะอมจะเริ่มแตกตายอด ช่วงนี้ควรให้อาหารเสริมบ้าง คือ ใช้ยูเรีย 2 ช้อนแกงต่อน้ำหนึ่งปี๊บ ฉีดพ่นเพื่อให้ยอดชะอมยาและสวย เห็นว่ายอดชะอมพร้อมที่จะตัดจำหน่ายได้เราก็ตัดไปจำหน่ายได้เลย ชะอมสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น ใช้รับประทานเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก ใช้ชุบไข่ทอด แกงแค เป็นต้น
การตลาดของชะอม
ตลาดของชะอมที่วางขายตามตลาดใหญ่ ๆ และตลาดเล็กในกรุงเทพ ส่วนมากมาจากจังหวัดนครปฐม เพราะแหล่งปลูกชะอมแหล่งใหญ่อยู่ที่ตำบลวังตะกู ตำบลนาสร้าง อ. เมือง จังหวัดนครปฐม และจังหวัดอื่น ๆ ที่ใกล้เคียง บางสวนก็จะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงบ้าน แล้วนำไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง หรือบางสวนก็นำไปส่งให้กับขาประจำที่ตลาด แล้วเขาก็จะส่งต่อเข้ากรุงเทพฯ อีกทอดหนึ่ง หรือก็ชาวสวนเก็บแล้วนำไปขายแถวตามตลาดท้องถิ่นนั้น ๆ